ท็อป10 เว็บไซต์ที่มีผู้ใช้มากสุดในโลก

แชมป์เว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมมากสุดในแต่ละเดือน คือ "กูเกิล" เสิร์ชเอ็นจิ้นรายใหญ่สุดของโลก มีจำนวนผู้ใช้มากถึงเดือนละ 185.16 ล้านคน และมีรายได้ในปี 2554 ราว 3.75 หมื่นล้านดอลลาร์
ปัจจุบัน กูเกิลเผชิญความท้าทาย 2 ประการ ได้แก่ การรักษาความเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นพื้นฐานบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ นอกเหนือจากที่ประสบความสำเร็จบนเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี เพราะทุกวันนี้ผู้คนใช้ไอแพดและไอโฟนในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากขึ้น อีกหนึ่งความท้าทายอยู่ที่การขยายอาณาจักรไปนอกเหนือจากการสืบค้นข้อมูล เพื่อต่อกรกับคู่แข่งที่สยายปีกในหลายสนามเช่นกัน
รองแชมป์ คือ เว็บไซต์แชร์คลิปวิดีโอรายใหญ่สุด "ยูทูบ" มีจำนวนผู้เข้าใช้ 159.97 ล้านคนต่อเดือน มีรายได้ 1.6 พันล้านดอลลาร์ จำนวนคลิปวิดีโอมีคนเข้าชมมากถึง 1.86 หมื่นล้านครั้งในเดือนมกราคม เฉลี่ยจำนวนนาทีที่ใช้ไปกับยูทูบอยู่ที่ 448 นาที เทียบกับยาฮู 57 นาที และ 22 นาทีบนเฟซบุ๊ค แต่ยูทูบมียอดขายเพียงแค่ 5% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทแม่ "กูเกิล" เนื่องจากวิดีโอที่โพสต์ในเว็บส่วนใหญ่ยังมีคุณภาพต่ำ และไม่ถึงดูดนักการตลาด
อันดับ 3 "เฟซบุ๊ค" เครือข่ายสังคมตัวพ่อ มีจำนวนผู้เข้าใช้ในสหรัฐ 149.48 ล้านคน ทำรายได้ 3.7 พันล้านดอลลาร์ และมีแผนจะเสนอหุ้นไอพีโอในปีนี้ จากความสำเร็จที่เปลี่ยนนิยามการใช้อินเทอร์เน็ตจากเดิมที่ผู้ใช้เป็นฝ่ายเข้าไปหาข้อมูลต่างๆ จากเว็บ เปลี่ยนเป็นการสื่อสารแบบ 2 ทาง ด้วยการใส่ข้อมูลส่วนบุคคลไว้สำหรับปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว และสังคมธุรกิจ แต่เฟซบุ๊คยังไม่สามารถค้นพบวิธีทำเงินจากจำนวนสมาชิกมหาศาลที่มีราว 800 ล้านคนทั่วโลก
อันดับ 4 "อะเมซอนดอทคอม" เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซรายใหญ่สุดของโลก มีจำนวนผู้เข้าใช้ 99.37 ล้านคน ทำรายได้ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ด้วยจุดแข็งในการขายสินค้าผ่านโลกออนไลน์ แทนที่จะตั้งหน้าร้านเหมือนห้างค้าปลีกอย่างวอลมาร์ต เบสต์บาย อีกทั้งปฏิวัติธุรกิจด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องอี-รีดเดอร์ที่ได้รับความนิยมอย่าง "คินเดิล"
อันดับ 5 "ยาฮู" เว็บไซต์เก่าแก่ มีจำนวนผู้มาเยือนเดือนละ 94.84 ล้านราย มีรายได้ 5 พันล้านดอลลาร์ แม้ยาฮูจะยังมีกำไรจากโฆษณาแบบดิสเพลย์และโฆษณาผ่านการสืบค้น แต่การจราจรของยาฮูยังตามหลังกูเกิลมาก และมีสัดส่วนแค่ 14% ในตลาดสืบค้นของสหรัฐ
อันดับ 6 "ทวิตเตอร์" มีจำนวนผู้ใช้ 90.79 ล้านราย มีรายได้ 140 ล้านดอลลาร์ ทวิตเตอร์ประกาศตัวเป็นไมโครบล็อกและเครือข่ายสังคม ซึ่งประเมินว่ามีสมาชิกกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก แต่ปัญหาอยู่ที่ทวิตเตอร์ไม่สามารถแปลงข้อความกว่า 200 ล้านทวีตให้เป็นธุรกิจได้ ทำให้นักโฆษณาลังเลที่จะอัดงบฯ การตลาดผ่านเว็บแห่งนี้
อันดับ 7 "เอ็มเอสเอ็น" มีผู้ใช้ 78.09 ล้านราย ทำรายได้ 2.5 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เอ็มเอสเอ็นเป็นแหล่งรวมเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตเหมือนกับยาฮูและเอโอแอล โดยมีรายได้จากโฆษณาดิสเพลย์และการสืบค้น ล่าสุดสามารถทำรายได้จากโฆษณาในท้องถิ่นได้ดี โดยเฉพาะรถยนต์และอสังหาริมทรัพย์
อันดับ 8 "วิกิพีเดีย" จำนวนคนเข้าใช้งาน 77.35 ล้านราย มีรายได้ 20 ล้านดอลลาร์ จากแนวคิดสารานุกรมออนไลน์ที่เปิดให้ทุกคนช่วยกันเขียนข้อมูล แต่ยังมีปัญหาตรงที่จำนวนข้อมูลมหาศาล ขณะที่มีพนักงานน้อยเกินกว่าจะตรวจสอบคุณภาพได้หมด
อันดับ 9 "เวิร์ดเพรสดอทคอม" มีจำนวนผู้เข้าใช้ในสหรัฐเดือนละ 63.93 ล้านราย มีรายได้ 10 ล้านดอลลาร์ จากผู้ใช้ที่เป็นบล็อกเกอร์รายเล็กๆ ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ที่ใช้เว็บไซต์นำเสนอข้อมูลและดีไซน์บล็อกของตัวเอง
อันดับ 10 "ไมโครซอฟท์ดอทคอม" มีจำนวนผู้เข้าใช้งาน 61.98 ล้านราย มีรายได้ 6.99 หมื่นล้านดอลลาร์ การจราจรบนเว็บไม่นับรวมจำนวนผู้ใช้งานเว็บเอ็มเอสเอ็น และเอ็มเอสเอ็นบีซี หรือเสิร์ชเอ็นจิ้นบิง แต่นับเฉพาะผู้ที่พุ่งเป้ามาที่ธุรกิจซอฟต์แวร์ โดยเว็บนี้มีเป้าหมายเพื่อขาย ดาวน์โหลด และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ของบริษัทโดยเฉพาะ อาทิ ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส






เครดิต :bangkokbiznews.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

พื้นที่โฆษณา